ประวัติความเป็นมาของชุมชน/ชุมชน ชุมชนอัตตักวาในอดีตเป็นชุมชนเล็กที่ถูกเรียกรวมกับชุมชนอื่นๆที่อยู่ในบริเวณเขตทุ่งครุ โดยคนทั่วไปจะเรียกขานกันว่า ชุมชนบางมด ที่กระจายอยู่ทั่วไปตามผืนนาอันกว้างใหญ่ของทุ่งครุในอดีต ชุมชนแห่งนี้มีผู้เข้ามาตั้งบ้านเรือน อาศัยเป็นเวลา เกือบ 100 ปี แต่ในอดีต นั้นมีจำนวนบ้านเรือนที่ปลูกสร้างในบริเวณแห่งนี้ไม่ถึง 15 หลังคาเรือน ซึ่งเป็นพี่น้องไทย-พุทธทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพ ทำนาแล้วเปลี่ยนมาเป็นการปลูกส้มบางมดเหมือนกับชุมชนอื่นๆในเขตทุ่งครุ และมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนในทุกปีแต่ก็ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นญาติพี่น้องที่ติดตามกันมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 80 ปี หรือประมาณปี พ.ศ. 2532 ก็มีชุมชนมุสลิมที่อพยพมาจากดาวคะนอง ประมาณ 20 ครอบครัว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาถูกไล่ที่ และภาย หลังจากนั้นก็มีพี่น้องมุสลิมจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสตูล กระบี่ อยุธยา อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น จนชุมชนแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นชุมชนทางการจากสำนักงานเขตทุ่งครุในปี พ.ศ. 2534 โดยให้ชื่อว่า ชุมชนอัตตักวา ซึ่งชื่อ ดังกล่าวมีความหมายว่า การเกรงกลัวต่อพระเจ้า (อัลเลาะห์) พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในบริเวณนี้ จากที่เคยเป็นทุ่งนาและ สวนส้ม ก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากที่เข้ามาแทนที่ ชุมชนอัตตักวาเป็นชุมชนที่รวมหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 เข้าไว้ด้วยกันโดยมีคลองแจงร้อนเป็นเส้นแบ่งเขตอย่างชัดเจน ชุมชนแห่งนี้มีการผสม ผสาน การอยู่ร่วมกันระหว่าพี่น้องไทย- พุทธ และมุสลิมได้อย่างลงตัว โดยต่างฝ่ายก็ยังคงยึดมั่นในหลักศาสนาของตนเองและร่วมมือกันเพื่อ ให้เกิดการ พัฒนาของชุมชนอัตตักวาแห่งนี้เรื่อยมา โดยจะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมการของชุมชน ซึ่งในส่วนของพี่น้องมุสลิมก็จะอยู่ ู่ภายใต้การ ดูแล ของคณะกรรมการมัสยิดและคณะกรรมการชุมชนร่วมด้วยผู้นำของพี่น้องมุสลิมยังคงยึดผู้นำทางศาสนาเป็นแกนหลักสำคัญ นั่นก็คือ โต๊ะอิหม่าม ประจำมัสยิดอัตตักวาและคณะกรรมการมัสยิด ส่วนพี่น้องไทย- พุทธ ก็อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการชุมชนเป็น หลัก ซึ่งก็คือประธานชุมชนเอง โดยผู้นำของแต่ละฝ่ายก็จะมีการพบปะพูดคุยกันเป็นประจำเพื่อให้เกิดร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันของ พี่น้อง ในชุมชน